อิเหนา
อิเหนา เป็น วรรณคดีเก่าแก่เรื่องหนึ่งของไทย
เป็นที่รู้จักกันมานาน เข้าใจว่าน่าจะเป็นช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยได้ผ่านมาจากหญิงเชลยปััตตานี ที่เป็นข้าหลวงรับใช้พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ พ.ศ.2275 – 2301) โดยเล่าถวายเจ้าฟ้้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฏ พระราชธิดา
จากนั้นพระราชธิดาทั้งสองได้ทรงแต่งเรื่องขึ้นมาองค์ละเรื่อง
เรียกว่าอิเหนาเล็ก (อิเหนา) และอิเหนาใหญ่ (ดาหลัง) ประวัติดังกล่าวมีบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์อิเหนา
ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังนี้
อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง
|
สำหรับงานการฉลองกองกุศล
|
|
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์
|
แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไปฯ
|
นอกจากนี้ ยังมีบรรยายไว้ในปุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย
ระบุถึงการนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเช่นกัน โดยเล่าว่ามีงานมหรสพที่เล่นเรื่องอิเหนา ดังนี้
ร้องเรื่องระเด่นโดย
|
บุษบาตุนาหงัน
|
|
พักพาคูหาบรรณ-
|
พตร่วมฤดีโลม ฯ
|
เนื้อเรื่องตรงกับอิเหนาเล็ก ที่ว่าถึงตอนลักบุษบาไปไว้ในถ้ำ
ซึ่งไม่ปรากฏในเรื่องอิเหนาใหญ่
เรื่องอิเหนา หรือที่เรียกกันว่านิทานปันหยีนั้น
เป็นนิทานที่เล่าแพร่หลายกันมากในชวา เชื่อกันว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ของชวา ในสมัยพุทธศัตวรรษที่ 16 ปรุงแต่งมาจากพงศาวดารชวา และมีด้วยกันหลายสำนวน พงศาวดารเรียกอิเหนาว่า “ปันจี อินู กรัตปาตี” (Panji Inu Kartapati) แต่ในหมู่ชาวชวามักเรียกกันสั้นๆ
ว่า “ปันหยี” (Panji) ส่วนเรื่องอิเหนาที่เป็นนิทานนั้น
น่าจะแต่งขึ้นในราวพุทธศัตวรรษที่ 20-21หรือในยุคเสื่อมของราชวงศ์อิเหนาแห่งอาณาจักรมัชปาหิต และอิสลามเริ่มเข้ามาครอบครอง นิทานปันหยีของชวานั้น มีด้วยกันหลายฉบับ
แต่ฉบับที่ตรงกับอิเหนาของเรานั้น คือ ฉบับมาลัต ใช้ภาษากวีของชวาโบราณ มาจากเกาะบาหลี
อิเหนามีทั้งหมด 20 ตอน
เป็นลักษณะกลอนบทละคร
มีลักษณะดังนี้
๑.กลอนแต่ละวรรค มีจำนวนคำระหว่าง ๗ –
๘ คำ
๒.
การสัมผัสในจะมีทั้งสัมผัสพยัญชนะและสัมผัสสระเป็นคู่ ๆ ในแต่ละวรรค
ทำให้เกิดเสียงเสนาะขึ้น เช่น
ว่าพลางโอบอุ้มอรทัย
|
ขึ้นไว้เหนือตักสะพักชม
|
|
เอนองค์ลงแอบแนบน้อง
|
เชยปรางพลางประคองสองสม
|
|
คลึงเคล้าเย้ายวนสำรวลรมย์
|
เกลียวกลมสมสวาทไม่คลาดคลาย
|
|
กรกอดประทับแล้วรับขวัญ
|
อย่าตระหนกอกสั่นนะโฉมฉาย
|
|
ฤดีดาลซ่านจับเนตรพราย
|
ดังสายสุนีวาบปลาบตา
|
คุณค่าในวรรณคดี
1. คุณค่าในด้านเนื้อเรื่อง บทละครเรื่องอิเหนา
มีโครงเรื่องและเนื้อเรื่องที่สนุก
โครงเรื่องสำคัญเป็นเรื่องการชิงบุษบาระหว่างอิเหนากับจรกา
เรื่องความรักระหว่างอิเหนากับบุษบา เนื้อเรื่องสำคัญก็คือ อิเหนาไปหลงรักจินตะหรา
ทั้งที่มีคู่หมั้นอยู่แล้วซึ่งก็คือบุษบา ทำให้เกิดปมปัญหาต่างๆ
2. คุณค่าในด้านวรรณศิลป์
2.1 ความเหมาะสมของเนื้อเรื่องและรูปแบบ
บทละครอิเหนาเป็นบทละครใน มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์
กลวิธีการดำเนินเรื่องจึงยึดรูปแบบอย่างเคร่งครัด อากัปกิริยาของตัวละครต้องมีสง่า
มีลีลางดงามตามแบบแผนของละครใน โดยเฉพาะการแสดงศิลปะการร่ายรำจะต้องมีความงดงาม
ภาษาที่ใช้เหมาะสมกับตัวละคร จะใช้ถ้อยคำไพเราะ แสดงออกถึงอารมณ์ของตัวละคร
ไม่ว่าจะเป็นความอาลัยอาวรณ์ ความโกรธ ความรัก การประชดประชัน
กระบวนกลอนตลอดจนเพลงขับร้องและเพลงหน้าพาทย์มีความไพเราะอย่างยิ่ง
ซึ่งถือว่าเป็นบทละครในที่เพียบพร้อมด้วยรูปแบบของการละครอย่างครบถ้วน
2.2การบรรยายและการพรรณนามีความละเอียดชัดเจน
ทำให้เกิดจินตภาพ ไม่ว่าจะเป็นฉาก เหตุการณ์ สภาพบ้านเมือง ภูมิประเทศ
รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึกของตัวละคร ผู้อ่านเกิดความรู้สึกและความเกิดความเข้าใจในบทละครเป็นอย่างดี
เนื่องจากการใช้โวหารเรียบเรียงอย่างประณีต เรียบง่าย และชัดเจน
2.3การเลือกใช้ถ้อยคำดีเด่นและไพเราะกินใจ
การใช้ถ้อยคำง่าย แสดงความหมายลึกซึ้ง กระบวนกลอนมีความไพเราะ
เข้ากับบทบาทของตัวละคร โดยใช้กลวิธีต่างๆ ในการแต่ง
2.4 การใช้ถ้อยคำให้เกิดเสียงเสนาะ
คำสัมผัสในบทกลอนทำให้เกิดเสียงเสนาะ มีทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร
ทำให้กลอนเกิดความไพเราะ
3. คุณค่าในด้านความรู้
3.1 สังคมและวัฒนธรรมไทย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสร้างฉากและบรรยากาศในเรื่องให้เป็นสังคม วัฒนธรรม
และบ้านเมืองของคนไทย แม้ว่าบทละครเรื่องอิเหนาจะได้เค้าเรื่องเดิมมาจากชวา
ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสังคมและวัฒนธรรม
ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีไทยในพระราชสำนักและของชาวบ้านหลายประการ
4. คุณค่าทางด้านการละครและศิลปกรรม
4.1การละคร บทละครเรื่องอิเหนาเป็นยอดของละครรำ
เพราะใช้คำประณีต ไพเราะ เครื่องแต่งตัวละครงดงาม ท่ารำงาม
บทเพลงขับร้องและเพลงหน้าพาทย์กลมกลืนกับเนื้อเรื่องและท่ารำ
จึงนับว่าดีเด่นในศิลปะการแสดงละคร
4.2 การขับร้องและดนตรี
วงดนตรีไทยนิยมนำกลอนจากวรรณคดีเรื่องอิเหนาไปขับร้องกันมาก เช่น ตอนบุษบาเสี่ยงเทียน
และตอนประสันตาต่อนก เป็นต้น
4.3การช่างของไทย
ผู้อ่านจะได้เห็นศิลปะการแกะสลักลวดลายการปิดทองล่องชาด
และลวดลายกระหนกที่งดงามอันเป็นความงามของศิลปะไทย
ซึ่งจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ
ข้อคิด
1. การเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้
จากในวรรณคดีเรื่องอิเหนานั้น เราได้ข้อคิดเกี่ยวกับการเอาแต่ใจตนเอง
อยากได้อะไรเป็นต้องได้ ไม่รู้จักระงับความอยากของตน หรือพอใจในสิ่งที่ตนมีแล้ว
ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา และคนอื่นๆ ก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย
ดังเช่นในตอนที่อิเหนาได้เห็นนางบุษบาแล้วเกิดหลงรัก อยากได้มาเป็นมเหสีของตน
กระนั้นแล้ว อิเหนาจึงหาอุบายแย่งชิงนางบุษบา แม้ว่านางจะถูกยกให้จรกาแล้วก็ตาม
โดยที่อิเหนาได้ปลอมเป็นจรกาไปลักพาตัวบุษบา แล้วพาไปยังถ้ำทองที่ตนได้เตรียมไว้
ซึ่งการกระทำของอิเหนานั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้คนเดือดร้อนไปทั่ว
พิธีที่เตรียมไว้ก็ต้องล่มเพราะบุษบาหายไป อีกทั้งเมืองยังถูกเผา
เกิดความเสียหายเพียงเพราะความเอาแต่ใจอยากได้บุษบาของอิเหนานั่นเอง
2. การใช้อารมณ์ ในชีวิตของมนุษย์ทุกคนนั้น
ย่อมต้องประสบพบกับเรื่องที่ทำให้เราโมโห หรือทำให้อารมณ์ไม่ดี ซึ่งเมื่อเป็นดังนั้น
เราควรจะต้องรู้จักควบคุมตนเอง เพราะเมื่อเวลาเราโมโห เราจะขาดสติยั้งคิด
เราอาจทำอะไรตามใจตัวเองซึ่งอาจผิดพลาด และพลอยทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก
ฉะนั้นเราจึงต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง
และเมื่อเรามีสติแล้วจึงจะมาคิดหาวิธีแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งภายในเรื่องอิเหนาเราจะเห็นได้จากการที่ท้าวดาหาได้ประกาศยกบุษบาให้ใครก็ตามที่มาสู่ขอ
โดยจะยกให้ทันที
เพราะว่าทรงกริ้วอิเหนาที่ไม่ยอมกลับมาแต่งงานกับบุษบาตามที่ได้หมั้นหมายกันไว้
การกระทำของท้าวดาหานี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาและความวุ่นวายหลายอย่างตามมา
และท้าวดาหานั้นยังกระทำเช่นนี้โดยมิได้สนใจว่าบุตรสาวของตนจะรู้สึกเช่นไร
หรือจะได้รับความสุขหรือความทุกข์หรือไม่
3. การใช้กำลังในการแก้ปัญหา โดยปกติแล้ว
เวลาที่เรามีปัญหาเราควรจะใช้เหตุผลในการแก้การปัญหานั้น
ซึ่งถ้าเราใช้กำลังในการแก้ปัญหา นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมา
และอาจเป็นการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนไปด้วย ตัวอย่างเช่น
ท้าวกะหมังกุหนิงที่ได้ส่งสารมาสู่ขอบุษบาให้กับวิหยาสะกำบุตรของตน
เมื่อทราบเรื่องจากท้าวดาหาว่าได้ยกบุษบาให้กับจรกาไปแล้ว
ก็ยกทัพจะมาตีเมืองดาหาเพื่อแย่งชิงบุษบา ซึ่งการกระทำที่ใช้กำลังเข้าแก้ปัญหานี้ก็ให้เกิดผลเสียหลายประการ
ทั้งทหารที่ต้องมาต่อสู้แล้วพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก สูญเสียบุตรชาย
และในท้ายที่สุดตนก็มาเสียชีวิต เพียงเพราะต้องการบุษบามาให้บุตรของตน
ไม่รู้จักประมาณตนเอง เราทุกคนเมื่อเกิดมาแล้ว
ย่อมมีในสิ่งที่แตกต่างกัน เกิดมาในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน
เราก็ควรรู้จักประมาณตนเองบ้าง ใช้ชีวิตไปกับสิ่งที่คู่ควรกับตนเอง
พอใจในสิ่งที่ตนมี เราควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วย
ถ้าเรารู้จักประมาณตนเองก็จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งถ้าเราไม่รู้จักประมาณตนเอง
ก็อาจทำให้เราไม่มีความสุข เพราะไม่เคยสมหวังในชีวิต เช่นกับ จรกาที่เกิดมารูปชั่ว
ตัวดำ อัปลักษณ์ หน้าตาน่าเกลียด จรกานั้นไม่รู้จักประมาณตนเอง ใฝ่สูง
อยากได้คู่ครองที่สวยโสภา ซึ่งก็คือบุษบา เมื่อจรกามาขอบุษบา
ก็ไม่ได้มีใครที่เห็นดีด้วยเลย ในท้ายที่สุด จรกาก็ต้องผิดหวัง
เพราะอิเหนาเป็นบุคคลที่เหมาะสมกับบุษบาไม่ใช่จรกา
5. การทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด หรือคำนึงถึงผลที่จะตามมา
การจะทำอะไรลงไป เราควรจะคิดทบทวนหรือ
ชั่งใจเสียก่อนว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ ทำแล้วเกิดผลอะไรบ้าง แล้วผลที่เกิดขึ้นนั้นก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่นหรือไม่
เกิดอย่างไรบ้าง เมื่อเรารู้จักคิดทบทวนก่อนจะกระทำอะไรนั้น
จะทำให้เราสามารถลดการเกิดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
หรือสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที ถ้าเราทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด
ก็มีแต่จะเกิดปัญหาตามมามากมาย
เราจะเห็นตัวอย่างได้จากเรื่องอิเหนาในตอนที่อิเหนาได้ไปร่วมพิธีศพของพระอัยกีแทนพระมารดาที่เมืองหมันหยา
หลังจากที่อิเหนาได้พบกับจินตะหราวาตี ก็หลงรักมากจนเป็นทุกข์
ไม่ยอมกลับบ้านเมืองของตน ไม่สนใจพระบิดาและพระมารดา
ไม่สนใจว่าตนนั้นมีคู่หมั้นอยู่แล้ว ซึ่งมิได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาจากปัญหาที่ตนได้ก่อขึ้น
จากการกระทำของอิเหนาในครั้งนี้ก็ได้ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา
เนื้อเรื่องตอนที่ 1 บ้านเมืองและกำเนิดตัวละคร
ในชวาสมัยโบราณ มีกษัตริย์ปกครองเมืองใหญ่เมืองน้อย กษัตริย์วงศ์เทวาซึ่งถือว่าเป็นชาติตระกูลสูงสุด ด้วยสืบเชื้อสายมาจากเทวดา ใช้คำนำหน้าพระนามว่า ระเด่น ส่วนกษัตริย์นอกวงศ์นั้น ใช้คำว่า ระตู เริ่มต้นบทละครเรื่องนี้ กล่าวถึงกษัตริย์วงศ์ 4 องค์ ต่างเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา ทรงพระนามว่าท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา ท้าวกาหลัง ท้าวสิงหัดส่าหรี ครองเมือง 4 เมือง ซึ่งมีชื่อเช่นเดียวกับพระนามกษัตริย์ ทุกพระองค์ต่างก็มีมเหสี 5 องค์ ตามประเพณี เรียงลำดับศักดิ์ คือ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู และเหมาหลาหงี ประไหมสุหรีของท้าวกุเรปันและท้าวดาหานั้น เป็นธิดาของกษัตริย์หมันหยาเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่ง จึงทำให้เมืองหมันหยามีความเกี่ยวดองกับกษัตริย์วงศ์เทวามากขึ้น ท้าวกุเรปันมีโอรสกับลิกูองค์หนึ่งทรงพระนามว่า กระหรัดตะปาตี ซึ่งได้หมั้นไว้กับบุษบารากา ธิดาของท้าวกาหลังซึ่งเกิดจากลิกู ต่อมาพระองค์ปรารถนาจะให้ประไหมสุหรีมีโอรสบ้าง จึงได้ทำพิธี
บวงสรวง ก่อนประไหมสุหรีทรงครรภ์ก็ได้สุบินว่าพระอาทิตย์ทรงกลดลอยมาตกตรงหน้า และนางรับไว้ได้ เมือประสูติก็เกิดอัศจรรย์ต่าง ๆ เป็นนิมิตดี องค์ปะตาระกาหลาซึ่งเป็นเทวดาต้นวงศ์บนสวรรค์ เหาะนำกริชมาประทานให้ พร้อมทั้งจารึกนามโอรสด้วยว่า อิเหนา ต่อมาประไหมสุหรีได้ธิดาอีกหนึ่งองค์ พระนามว่า วิยะดา ฝ่ายท้าวดาหา ประไหมสุหรีก็ประสูติธิดา ได้พระนามว่า บุษบา ขณะประสูติก็เกิดอัศจรรย์ก็มี กลิ่นหอมตลบทั่วเมือง หลังจากประสูติบุษบาแล้ว ประไหมสุหรีก็ประสูติโอรสอีก พระนามสียะตรา
ท้าวกาหลังมีธิดา พระนามสะการะหนึ่งหรัด ท้าวสิงหัดส่าหรีมีโอรส พระนามสุหรานากง และธิดาพระนาม จินดาส่าหรี
กษัตริย์ในวงศ์เทวาจึงได้จัดให้มีการตุนาหงันกันขึ้น ระหว่างโอรสและธิดาในวงศ์เดียวกันโดยให้ อิเหนาหมั้นไว้กับบุษบา กระหรัดตะปาตีกับบุษบารากา สียะตรากับวิยะดา สุหรานากงกับสะการะหนึ่งหรัด แต่ก่อนจะมีการแต่งงาน ความยุ่งยากก็เกิดขึ้น
เนื้อเรื่องตอนที่ 2 ความขัดแย้ง ต้นเหตุของความยุ่งยาก
จุดเริ่มต้นที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้ตัวละครประกอบความยุ่งยาก และเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายอันเป็นการดำเนินเรื่อง
ของบทละครเรื่องนี้ เกิดจากอัยยิกาของอิเหนาที่เมืองหมันหยาสิ้นพระชนม์ อิเหนาจึงเสด็จไปในงานพระเมรุแทนท้าวกุเรปัน แต่เสร็จพิธีแล้วอิเหนาไม่ยอมกลับ เพราะหลงรักนาง จินตะหรา ธิดาท้าวหมันหยา จนท้าวกุเรปันต้องมีสารไปเตือน เมื่อกลับมากรุงกุเรปันแล้วและใกล้เวลาอภิเษกกับบุษบา อิเหนาก็ไม่ใคร่เต็มใจ จึงออกอุบายทูลลาพระบิดาไปประพาสป่า แล้วปลอมองค์เป็น ปันหยีหรือโจรป่า นามว่ามิสาระปันหยี คุมไพร่พลรุกรานเมืองต่าง ๆ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองใดก็ได้เมืองนั้นเป็นเมืองขึ้น ระตูหลายเมืองได้ถวายโอรสและธิดาให้ ที่สำคัญคือระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงัน ได้ถวายธิดาคือมาหยารัศมีและสะการวาตี ซึ่งต่อมาได้เป็นชายาของอิเหนา และถวายโอรสคือสังคามาระตา ซึ่งอิเหนายกย่องให้เป็นน้องและเป็นทหารคู่ใจ กองทัพของปันหยีรอนแรมไปจนถึงเมืองหมันหยา ท้าวหมันหยาไม่กล้าต่อสู้และยอมยกธิดาให้ แต่พอรู้ว่าเป็นอิเหนา ท้าวหมันหยาไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญา อิเหนาจึงลอบเข้าหานางจินตะหราและได้เสียกัน ท้าวหมันหยาก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
พอถึงกำหนดการอภิเษก ท้าวดาหาก็มีสารถึงท้าวกุเรปันให้เตรียมพิธีอภิเษก แต่อิเหนาบอกปัด ทำให้ท้าวดาหาโกรธมาก จึงประกาศจะยกบุษบาให้กับใครก็ได้ที่มาขอ เพราะฉะนั้นเมื่อระตูจรกา กษัตริย์รูปชั่วตัวดำ ให้พี่ชายคือระตูล่าสำไปสู่ขอบุษบาให้ตน ท้าวดาหาก็ยอมยกให้ ต่อมา ท้าวกระหมังกุหนิง ส่งทูตมาสู่ขอบุษบาให้วิหยาสะกำซึ่งเป็นโอรส แต่ท้าวดาหาปฏิเสธเพราะได้
ยกให้ระตูจรกาไปแล้ว เป็นเหตุให้ท้าวกะหมังกุหนิงโกรธและยกกองทัพมาล้อมเมืองดาหา ท้าว ดาหาจึงขอกำลังจาก
พระเชษฐาและพระอนุชา ท้าวกุเรปันมีคำสั่งให้อิเหนาไปช่วยรบ อิเหนาจึงจำใจต้องจากนางจินตะหราและยกกองทัพไปช่วยรบ การศึกครั้งนี้ อิเหนามีชัยชนะ ท้าวกะหมังกุหนิงถูกอิเหนาฆ่าตายและโอรสคือวิหยาสะกำถูกสังคามาระตาฆ่าตาย กองทัพที่ล้อมเมืองดาหาก็แตกพ่ายไป เมื่อชนะศึกแล้ว อิเหนาก็ได้เข้าเฝ้าท้าวดาหาและได้พบกับบุษบา อิเหนาได้เห็นความงามของบุษบาก็หลงรักและเสียดาย พยายามหาอุบายอยู่ในเมืองดาหาต่อไป และพยายามหาโอกาสใกล้ชิดบุษบา โดยอาศัยสียะตราเป็นสื่อรัก อิเหนาพยายามหาวิธีการทุกทางเพื่อจะได้บุษบาเป็นของตน เช่นตอนที่ท้าว
ดาหาไปใช้บนที่เขาวิลิศมาหรา อิเหนาได้แอบสลักสารบนกลีบดอกปะหนัน (ลำเจียก) ให้นาง แอบเข้าไปในวิหารพระปฏิมา ตรัสตอบคำถามแทนพระปฏิมา ต้อนค้างคาวมาดับไฟแล้วแอบมากอดนาง ตลอดจนคาดคั้นมะเดหวีให้ช่วยเหลือตน เป็นต้น และเมื่อท้าวดาหาจะจัดพิธีอภิเษกระหว่างบุษบากับระตูจรกา อิเหนาก็ใช้วิธีการสุดท้ายโดยการทำอุบายเผาเมือง แล้วลอบพานางบุษบาหนีออกจากเมืองไปซ่อนในถ้ำที่เตรียมไว้ และได้นางเป็นมเหสี
เนื้อเรื่องตอนที่ 3 ปัญหาใหม่ และการมะงุมมะงาหรา
หลังจากอิเหนากับบุษบาเข้าใจกันแล้ว ก็เกิดความยุ่งยากใหม่ขึ้นกับตัวละครอีก เพราะองค์ปะตาระกาหลาทรงพิโรธอิเหนา
ที่ก่อเหตุวุ่นวายมาตลอด จึงดลบันดาลให้ลมหอบเอานางบุษบาพร้อมพี่เลี้ยงสองนาง ไปตกในเมืองปะมอตัน
ขณะที่อิเหนาเข้าไปในเมืองดาหาเพื่อแก้สงสัย อิเหนากลับมาไม่พบบุษบาก็ปลอมองค์เป็นปันหยีออกตามหา พร้อมกับนำวิยะดาไปด้วยกับตน โดยให้ปลอมเป็นปันหยีชื่อเกนหลงหนึ่งหรัด ผ่านเมืองใดก็รบพุ่งเอาไปเป็นเมืองขึ้นไปตลอดรายทาง จนถึงเมืองกาหลัง จึงได้เข้าไปขอพักอาศัยอยู่ด้วย
ส่วนบุษบา หลังจากลมหอบไปยังเมืองปะมอตันแล้ว องค์ปะตาระกาหลา ก็สำแดงตนบอกเล่า เรื่องราวให้ทราบว่า นี่เป็นการลงโทษอิเหนา ทั้งสองจะต้องผจญความลำบากอยู่ระยะหนึ่ง จึงจะได้พบกันองค์ปะตาระกาหลาได้แปลงตัวบุษบาให้เป็นชาย มอบกริชจารึกพระนามว่ามิสาอุณากรรณ ให้มีความสามารถทางการรบ หลังจากนั้น อุณากรรณเดินทางเข้าเมืองปะมอตัน ท้าวปะมอตันรับเลี้ยงไว้เป็นโอรส ต่อมาอุณากรรณกับพี่เลี้ยงก็ยกพลออกเดินทางเพื่อตามหาอิเหนา ผ่านเมืองใดเจ้าเมืองไม่อ่อนน้อมก็รบพุ่งได้ชัยชนะหลายเมือง จนกระทั่งถึงเมืองกาหลัง ได้พบกับปันหยี ทั้งสองฝ่ายต่างก็แคลงใจว่าอีกฝ่ายคือบุคคลที่ตนเที่ยวหา แต่ก็ไม่กล้าเปิดเผยตัว ได้แต่สังเกตและคุมเชิงกันอยู่
ที่เมืองกาหลัง ปันหยีและอุณากรรณได้เข้าอ่อนน้อมต่อท้าวกาหลัง ท้าวกาหลังก็ทรงโปรดทั้งสองเหมือนโอรส ต่อมามีศึกมาประชิดเมืองเพราะท้าวกาหลังไม่ยอมยกธิดา คือสะการะหนึ่งหรัดให้ ปันหยีและอุณากรรณอาสารบ
และสามารถชนะศึกได้อย่างง่ายดาย เหตุการณ์นี้ทำให้ปันหยี อุณากรรณและสะการะหนึ่งหรัดใกล้ชิดสนิดสนมกันมากยิ่งขึ้น ทำให้อุณากรรณกลัวความจะแตกว่านางเป็นหญิง กอปรกับต้องการติดตามหาอิเหนาต่อไป จึงทูลลาท้าวกาหลังกลับเมืองปะมอตัน แต่นางออกอุบายให้ทหารกลับเมืองตามลำพัง ส่วนนางกับพี่เลี้ยงหนีไปบวชชี (แอหนัง) เพื่อหาทางหลบหนีการตามพัวพันของปันหยี
ฝ่ายสียะตราแห่งเมืองดาหา ครั้นทำพิธีโสกันต์เสร็จก็แอบหนีพระบิดาปลอมตัวเป็นปัจจุเหร็จโจรป่าชื่อ ย่าหรัน ออกเดินทางหาอิเหนาและบุษบา องค์ปะตาระกาหลาแปลงเป็นนกยูงมาล่อย่าหรันไปถึงเมืองกาหลังได้เข้าเฝ้าและพำนักอยู่ในเมือง ต่อมาย่าหรันและปันหยีเกิดต่อสู้กัน เพราะเกนหลงหนึ่งหรัดเป็น ต้นเหตุ ในที่สุดอิเหนาและสียะตราก็จำกันได้ เพราะมองเห็นกริชของกันและกัน
ต่อมาปันหยีทราบว่ามีแอหนังบวชบนภูเขา รูปงามละม้ายบุษบา จึงออกอุบายปลอมตัวเป็นเทวดาหลอกนางมายังเมืองกาหลัง เมื่อปันหยีพิศดูนางก็ยิ่งละม้ายนางบุษบา แต่พอเห็นกริชของนาง ชื่ออุณากรรณ ก็เข้าใจว่านางเป็นชายาของอุณากรรณ ฝ่ายพี่เลี้ยงของปันหยีคิดเล่นหนังทดสอบแอหนัง โดยผูกเรื่องตามชีวิตจริงของอิเหนากับบุษบาทุก ๆ ตอน นางแอหนังฟังเรื่องราวก็ร้องไห้คร่ำครวญ ทั้งสองฝ่ายจึงจำกันได้ อิเหนาจึงให้นางสึกจากชี ระเด่นทั้งสี่ คือ อิเหนา บุษบา สียะตรา และวิยะดา จึงพบกันและจำกันได้หลังจากดั้นด้นติดตามกันโดยปราศจากทิศทาง (มะงุมมะงาหรา) เสียนาน
เนื้อเรื่องตอนที่ 4 ปิดเรื่อง
กษัตริย์วงศ์เทวาได้มาพร้อมกัน ณ เมืองกาหลัง หลังจากทราบเรื่องและเข้าใจกันดีแล้ว จึงได้มีการ
อภิเษกสมรสกันขึ้นระหว่างคู่ตุนาหงันในวงศ์เทวา พร้อมทั้งอภิเษกธิดาระตูอื่น ๆ เป็นมเหสีกษัตริย์วงศ์เทวาจนครบตำแหน่ง เช่น อิเหนาอภิเษกกับบุษบาและจินตะหรา โดยบุษบาเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย จินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวา สะการะวาตีเป็นมะเดหวีฝ่ายขวา มาหยารัศมีเป็นมะเดหวีฝ่ายซ้าย บุษบาวิลิศเป็นมะโตฝ่ายขวา บุษบากันจะหนาเป็นมะโตฝ่ายซ้าย ระหนากะระติกาเป็นลิกูฝ่ายขวา อรสานารีเป็นลิกูฝ่ายซ้าย สุหรันกันจาส่าหรี เป็นเหมาหลาหงีฝ่ายขวา หงยาหยาเป็นเหมาหลาหงีฝ่ายซ้าย สียะตราอภิเษกกับวิยะดา สุหรานากงกับสะการะหนึ่งหรัด กะหรัดตะปาตีกับบุษบารากา สุหรานากงครองเมืองสิงหัดส่าหรี กะหรัดตะปาตีครองเมืองกาหลัง.
ฉันทลักษณ์คำประพันธ์
เป็นบทละครรำ
มีลักษณะดังนี้
๑.กลอนแต่ละวรรค มีจำนวนคำระหว่าง ๗ – ๘ คำ
๒.
การสัมผัสในจะมีทั้งสัมผัสพยัญชนะและสัมผัสสระเป็นคู่ ๆ ในแต่ละวรรค
ทำให้เกิดเสียงเสนาะขึ้น เช่น
ตัวละคร |
อ้างอิง
https://image.slidesharecdn.com/random-160705175702/95/-3-638.jpg?cb=1467741454
http://www.bloggang.com/data/c/cherrystone/picture/1303188134.jpg
https://www.youtube.com/watch?v=ERyN7p5IUgU
http://www.bloggang.com/data/c/cherrystone/picture/1303188134.jpg
https://www.youtube.com/watch?v=ERyN7p5IUgU
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น